ศูนย์การเรียนรู้บ้านจำรุง หมู่ที่ 7 ตำบลเนินฆ้อ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
ศูนย์ศึกษาดูงานด้านเศรษฐกิจพอเพียง โดยผู้ใหญ่ชาตรี ก่อเกื้อ

 คำขวัญบ้านจำรุง : ศูนย์การเรียนรู้เป็นหลัก  หลายหลากกิจกรรม รสเลิศล้ำทุเรียนพันธุ์ดี  มากมียางพารา  กะปิน้ำปลาขึ้นชื่อ  เลื่องลือแปรรูปเกษตรกรรม  น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

#บ้านจำรุง #เศรษฐกิจพอเพียง #เที่ยวระยอง #ศูนย์เรียนรู้เชิงเกษตร #ดูงานบ้านจำรุง

บ้านจำรุง ชม 10 ฐานศึกษาดูงาน

 

 บ้านจำรุง
GPS : กองทุนพัฒนาหมู่บ้านจำรุง 

พิกัด : 12.708584 101.622111

    ผู้ใหญ่ชาตรี ก่อเกื้อ ผู้ใหญ่บ้านจำรุงและทำหน้าที่ประธานศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนและผู้สูงอายุบ้านจำรุง หมู่ที่ 7 ตำบลเนินฆ้อ อำเภอแกลง จังหวัดระยองคนปัจจุบัน ได้เล่าให้เราฟังว่า ย้อนไปในอดีตเมื่อประมาณ 150 ปีก่อน จำรุงเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ  ซึ่งจากการสอบถามและสืบค้นประวัติจากบุคลและหลักฐานต่างๆที่พอจะทราบว่า ผู้คนที่มาอยู่อาศัยในช่วงเริ่มต้น ได้อพยพจากบริเวณชายทะเล บริเวณบ้านถนนกระเพรา ตำบลเนินฆ้อในปัจจุบัน หลังจากเดินทางหลบหนีภัยสงครามมาจากจันทบุรีโดยพากันหลบหนีออกมาหาที่อยู่ใหม่จากการเข้ามายึดครองจันทบุรีและตราดของฝรั่งเศสเรื่อยลงมาจนถึงชายทะเลบริเวณบ้านถนนกะเพรา หลังจากนั้นจึงอพยพต่อไปเรื่อยๆโดยได้พากันย้ายถิ่นฐานเพื่อที่จะหาที่อยู่และที่ทำกินใหม่ ห่างจากที่เดิมมาประมาณ 6- 7 กิโลเมตร จนมาถึงสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งเหมาะแก่การเพาะปลูก มีบึงและน้ำขังตลอดปี จึงหยุดและสร้างถิ่นฐานโดยเรียกสถานที่แห่งนั้นว่า บ้านป่าเรไร  ซึ่งบริเวณนี้เป็นบริเวณที่เหมาะแก่การเพาะปลูกเป็นอันมากเนื่องจากทางด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ประมาณหนึ่งในสามของหมู่บ้านเป็นที่ราบลุ่มทั้งยังมีทางน้ำเล็กๆไหลออกมาจากหมู่บ้าน

   ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า " คลองจำรุ "  คำว่า“จำรุ” (ชาวบ้านอ่านว่า จำหรุ เสียงต่ำเหน่อตามภาษาคนชอง) นั้นเป็นภาษาชอง แปลว่าทางน้ำเล็กๆคล้ายลำคลองซึ่งบางแห่งแคบมากผู้คนสามารถโดดข้ามไปข้ามมาได้ และปลายของคลองจำรุนั้นจะสลายหายไปกับท้องทุ่งนาและกลมกลืนกับท้องทุ่งนาจนเหมือนไม่มีลำคลองในบริเวณนั้น และมีความลึกของลำคลองไม่เกินหนึ่งเมตร (ผู้เขียนยืนยันเพราะผู้เขียนมีบ้านอยู่ใกล้ๆหมู่บ้านจำรุง และที่หมู่บ้านของผู้เขียนเองมี จำหรุ อยู่แห่งหนึ่งซึ่งทุกคนเรียกว่า จำหรุ เป็นสถานที่หาปู หาปลา ซ้อนกุ้ง หลังจากข้าวเริ่มเติบโต) แต่ต่อมาชาวบ้านอาจจะเรียกเพี้ยนหรือเขียนผิดจึงกลายมาเป็นคำว่า “จำรุง” และเรียกชื่อหมู่บ้านเป็น " บ้านจำรุง " เช่นในปัจจุบัน

รถรางจังโก้ 1

รถรางจังโก้ 2

ชมรมสามล้อพ่วงข้างบ้านจำรุง

   ลักษณะพื้นที่ของหมู่บ้านเป็นที่ราบลุ่มมีเนิน เหมาะแก่การทำนา ทำสวนผลไม้ และสวนยางพารา สภาพของดินมีความอุดมสมบูรณ์ ในทุ่งนา ดินจะมีลักษณะเป็น  ดินเหนียวสีดำ ทำนาได้ผลดี สภาพดินบนเนิน มีสีแดงมันปู เหมาะแก่การทำสวนผลไม้และสวนยางพาร

  การปลูกบ้านเรือนของชาวบ้านอยู่รวมเป็นกลุ่มก้อน โดยปลูกบริเวณริมทุ่งเป็นหลัก ต่อมาเมื่อการหักร้างถางป่าบนเนิน เพื่อทำสวนผลไม้และสวนยางพารา จึงได้ขยายแยกครอบครัว มาปลูกบ้านในสวนผลไม้บนเนินมากขึ้น 

  ความเป็นเครือญาติของคนในหมู่บ้านจำรุง ทำให้หมู่บ้านจำรุงมีแรงยึดเหนี่ยวทางสังคมในระดับสูง ชาวบ้านจะมีความรู้สึกผูกพันต่อกันและกัน  มีความเกรงใจ  มีค่านิยมที่ผูกพันกับหมู่บ้าน และต้องการเสียสละเพื่อหมู่บ้านของตนเอง สังเกตได้จากการร่วมมือกันพัฒนาหมู่บ้าน พัฒนาถนนหนทาง แหล่งน้ำสาธารณะวัด ที่สาธารณประโยชน์ ในวันสำคัญ ซึ่งจะมาช่วยกันอย่างพร้อมเพรียง มักได้ยินคำว่า “คนอื่นเขาช่วยกันพัฒนาถ้าเราไม่ทำด้วย จะทำให้ไม่สบายใจ” หรือ “ช่วยแรงไม่ได้ช่วยข้าวของ เงินทองก็ยังดี”

       สิ่งเหล่านี้เป็นความสำคัญของชาวบ้าน ในลักษณะความสามัคคี ความรับผิดชอบ ไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน ความสัมพันธ์แบบนี้ พบว่ามีผลต่อการดำรงชีวิตของคนในหมู่บ้าน โดยในอดีตมักจะมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในรูปของการลงแขกทำนา ทำไร่